ถ้าไม่มี Beauty Standard ฉันอาจจะเป็นคนมั่นใจกว่านี้

“มาตรฐานความสวย” (Beauty Standard) ที่แท้จริงคืออะไร ? ผิวขาว ? หุ่นดี ? หรือ ต้องใบหน้าแบบพระเจ้าสร้าง ถึงจะมีที่ยืนในสังคมได้ง่ายขึ้น หรือจริงๆแล้ว เราจะเป็นแบบไหนก็ได้ ขอให้เป็นคนเก่ง และดีก็พอ …

มาตรฐานความงาม คือสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นมา และเห็นตรงกัน ถึงความสวยที่เป็น “อุดมคติ” เมื่อค่านิยมนั้น เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย จึงทำให้เกิด รูปแบบความงามและค่ามาตรฐานที่ใกล้เคียงกันออกมา

มาตรฐานความสวย ถูกเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรม และประเพณี รวมถึง สื่อต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าโฆษณาต่าง ๆ สามารถ ชักจูงเราอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ผิว หรือ หุ่น ที่ต้องเป็นไปในรูปแบบนั้น ถึงจะมองว่า “สวย” ในปัจจุบัน มีความหลากหลายของสื่อมากขึ้น มีการออกมา Call out เรื่องสิทธิการแต่งตัว รวมถึงเรื่องรูปร่าง อย่างที่มีมาให้เห็นบ่อยครั้ง และนั้นทำให้ทุกคนมั่นใจในตัวเองไม่มากก็น้อย

แต่อดีตก็ได้สร้างบาดแผลไว้ไม่มีวันจางหายเช่นกัน คำพูดที่คอยทำร้ายตัวเราในช่วงเวลาที่ผ่านมา สร้างความไม่มั่นใจให้กับเราจนถึงทุกวันนี้ แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่มันก็ทำให้รู้สึกว่า “ถ้าไม่มี Beauty Standard ฉันอาจเป็นคนมั่นใจมากกว่านี้” ก็ได้

เหมียว : นักศึกษาภาพยนตร์

“เราชอบซื้อเสื้อผ้ามาก ชอบแต่งตัวแนวแฟรี่ ๆ น่ารัก แต่มันไม่ค่อยมีไซซ์สำหรับเรา”

คำว่า Beauty Standard สำหรับเหมียวในปัจจุบัน คือ Attitude ของคน มันจะมีคนที่แบบว่า “ฉันเป็นแบบนี้ แต่ฉันก็มั่นใจมาก” และเหมียวเองก็เป็นแบบนั้น สิ่งที่มั่นใจตัวเองมากที่สุดสำหรับเหมียว เธอบอกว่า “เธอชอบรอยยิ้มของตัวเองมากที่สุด” ถึงเธอไม่ได้ตรงกับพิมพ์นิยมที่หลาย ๆ คน ตั้งไว้ แต่เธอก็รักในการแต่งตัวของตัวเองมาก ๆ  เธอชอบไปเลือกซื้อเสื้อผ้า ที่น่ารัก ๆ ดู แฟรี่ ๆ ในแบบที่เธอชอบ แต่หลายครั้งที่ไปซื้อ ต้องยอมรับว่า มันไม่ได้มีไซซ์สำหรับเธอเสมอไป

หลายครั้งที่เธอถูกคนมองเวลาที่ไปซื้อเสื้อผ้าแบบที่เธอชอบ มันทำให้เธอรู้สึกกระอักกระอ่วน (Awkward) ด้วยซ้ำไป จนเกิดคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมล่ะ ก็ฉันอยากแต่งแบบนี้” คณะที่เหมียวเรียน เป็นเหมือน Safe zone ในการแต่งตัวของเธอ เวลาที่เธอแต่งตัวแบบที่เธอชอบ เธอจะได้รับคำชมจากคนรอบข้างของเธอเสมอ แต่เมื่อเธอต้องออกไปใช้ชีวิตนอกคณะ การแต่งตัวของเธอก็จะซอฟต์ลงไปทันที

สิ่งหนึ่งที่รู้สึกไม่ดีกับการแต่งตัวมาก ๆ คือ การที่เจอคนที่แต่งตัวเหมือนกันกับเธอ แต่เขามีรูปร่าง และหน้าตาที่เป็นไปตามพิมพ์นิยมมากกว่า แค่นี้มันก็สร้างความไม่มั่นใจให้เหมียวไปทั้งวันแล้ว

การมี Beauty Standard ทำให้เธอรู้สึกกลัวไปแล้ว เพราะเธอเจออะไรแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงปัจจุบัน อาจจะใช่ ที่เธอมั่นใจมากขึ้น และแฮปปี้มากขึ้นกับการใช้ชีวิต แต่มันก็ไม่ 100% ถึงจะมั่นใจมากแค่ไหน ก็ยังมีสังคมที่ยังคอยตามมาตัดสินเราอยู่ดี

กุ๊กกิ๊ก : นักสื่อสารองค์กร (corporate communications)

“เราถูกปลูกฝังจากสิ่งรอบข้างมาว่า ถ้า “สวย” เราจะมีโอกาสมากขึ้น”

ความสวยเป็นเหมือนสิทธิพิเศษ (privilege) ที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าคุณมี คุณก็จะได้รับสิทธิหรือโอกาสต่าง ๆ มากกว่าคนอื่น ๆ ไปโดยปริยาย มันไม่ได้ทำให้อย่างอื่นไม่ดี แต่มันแค่ทำให้เราได้อะไรมากขึ้น

ทุกคนรู้ ว่าโลกใบนี้ไม่สามารถมองคนแค่ภายนอกได้ สุดท้ายแล้ว ในระยะยาว เราก็ต้องวัดกันที่ความสามารถ และการวางตัวมากกว่า แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ก็ต้องยอมรับว่าหน้าตา เป็นด่านแรกที่ต้องพบเจอ สำหรับ กุ๊กกิ๊ก เธอถือว่าเป็นคนที่หน้าตาตรงกับพิมพ์นิยมเลยก็ว่าได้ แต่ไม่ใช่ว่าเธอจะไม่โดนสังคมตัดสินตัวเธอเลย

“ความมั่นใจ ก็เป็นภัยในรูปแบบหนึ่ง” กุ๊กกิ๊กเองเคยหลงระเริงไปกับความสวยและความเก่งที่ตัวเองมี จนทำให้คนรอบข้างเธอไม่ชอบเธอเอามากๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกที่แม้แต่คนที่สวยตรงตามที่ใครบอก ก็ยังหนีไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายแล้วสิทธิพิเศษตรงนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เรารอดพ้นจากการโดนสังคมตัดสินเช่นกัน

แต่ถึงแบบนั้น ก็ยังมีอีกหลายคน ที่พยายามทำให้ตัวเองดูดีตามค่านิยมที่ถูกตั้งเอาไว้ นั่นทำให้เราตระหนักได้ว่า การเป็นไปตามอุดมคตินั่นสำคัญแค่ไหน แม้จะรู้ดีว่า ความสวยงามเป็นเพียงเปลือกนอก แต่มันก็เป็นสิ่งที่หลุดพ้นได้ยาก

แบมโบ้ : Content Creator

“เราโดนมาเยอะมากๆ เพราะเราเป็นแบบนี้
มันซ้ำไปหมด จนมัน Beyond เกินกว่าจะมาคิดกับตรงนี้แล้ว”

“มั่นใจและไม่มั่นใจอะไรในตัวเองที่สุด?” มันกลายเป็นคำถามที่ตอบยากมากสำหรับคนที่ไม่ได้มองรูปลักษณ์ตัวเองดีอยู่แล้ว แบมโบ้ เธอก้าวผ่านจุดที่ย่ำแย่ที่สุด ของชีวิตไปแล้ว เพราะถ้าตัวเธอเอง มัวแต่สนใจเรื่องของ รูปร่างหน้าตาของเธออยู่นั้น เธอจะไม่มีวันได้ก้าวไปใช้ชีวิตในแบบของตัวเองอย่างแน่นอน

“เสื้อสายเดี่ยว” ที่ในอดีต เธอเคยมองว่า มันเหมาะสำหรับคนตัวเล็กๆ ผอมๆ แต่ปัจจุบัน เธอกล้าใส่มันให้คนอื่นเห็น เพราะเสื้อมันก็เป็นแค่เสื้อเท่านั้น ไม่ได้แปลก หรือตัดสินคุณค่าอะไรของเธอได้เลย

Beauty Standard สำหรับเธอ คือความถูกใจส่วนตัวของแต่ละคน บางคนไม่ได้มีรูปลักษณ์ตามพิมพ์นิยมของคนในปัจจุบัน แต่อาจจะทำให้เรารู้สึกได้ว่า คนนี้ช่างมีเสน่ห์จริงๆ

“เราว่าคนไทยกลัวการออกจาก Safe zone ” แบมโบ้บอก แม้ว่าตัวเธอเองจะก้าวผ่านจุดนั้นมาแล้ว แต่มันไม่ได้แปลว่าสังคมจะถูกขัดเกลาหรือทุกคนตระหนักกับเรื่องเหล่านี้ มันยังมีถ้อยคำที่ทำให้รู้สึกแย่ ตามหลังเวลาเดินผ่านรถรับจ้าง หรือถูกยัดเยียดสถานะบางอย่างที่เธอไม่ชอบ จากสังคมที่มองเข้ามา และพยายามจะแปะป้ายบางอย่างให้เธอ

การพูดให้คนอื่นรู้สึกแย่ อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับ การที่ทำให้ตัวเองดูดีขึ้น แต่กลับไม่ใช่เลย คนที่พูดให้เองต่างหาก ที่ทำร้ายตัวเองอยู่

รีฟ : ตัวแทนประกันชีวิต / Content Creator

“นักแสดงไทยไม่ค่อยหลากหลาย เราที่ชอบการแสดง เลยหาจุดยืนยาก”

สื่อเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการขับเคลื่อนสังคม และทัศนคติของผู้คน ไม่ว่าจะ โฆษณา ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือแม้กระทั่ง หนังสือพิมพ์ สิ่งเหล่านี้ เป็นพลังบางอย่าง ที่สามารถชักจูงเราไปอยู่ในจุดที่ต้องการได้

จะเห็นว่า ประเทศไทย ยังต้องมี พระเอก นางเอกที่ตรงตามอุดมคติอยู่ คนที่หน้าตาไม่ตรง ก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ถูกแกล้ง หรือตัวตลกของสื่อนั้นๆ แม้บทบาทตัวละคร คาแรคเตอร์ ในสื่อจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ต้องยอมรับว่า อิทธิพลในอดีต ก็ยังส่งผลต่อปัจจุบันเช่นกัน

รีฟ เป็นหนึ่งคนที่ชื่นชอบในการแสดง และกล้าแสดงออกในเรื่องต่าง ๆ แต่ก็ค่อย ๆ ถูกบั่นทอนลงไปทีละน้อย จากสังคม ที่คอยตัดสินเขา มีครั้งหนึ่งที่ รีฟ เคยไป Casting งานหนึ่ง งานนั้นระบุไว้ว่า “เน้นความสามารถเป็นหลัก” ซึ่งรีฟเองมองว่า มันเข้าทางเขา แต่พอผลประกาศออกมา คนที่ได้รับเลือกกลับเป็นคนที่ไม่ได้เก่งไปกว่าเขาเลย แต่มีรูปลักษณ์ที่ตรงตามอุดมคติ ที่ทางนั้นต้องการต่างหาก จึงได้รับเลือก

และไม่ว่าจะกิจกรรม หรือการทำงานอะไรก็แล้วแต่ คนที่หน้าตาดี จะถูกเข้าหามากกว่าเสมอ อย่างกิจกรรมรับน้อง พี่ๆ ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งเข้าหาคนที่หน้าตาดี เป็นหลัก ทำให้เมื่อเขา เป็นรุ่นพี่จึงพยายามเข้าหารุ่นน้องให้ได้ทุกคน แต่ก็ต้องยอมรับว่า แม้แต่ตัวรีฟเอง ก็หนีจากการดึงดูด (Attractive) ตรงนั้นไม่ได้เหมือนกัน

ดิ่งโด่ง : UX/UI Designer

“เราว่าเรื่องนี้มันทำให้เราอึดอัด
ทุกคนมีสิทธิ์จะบอกได้ว่าอะไรสวยไม่สวย”

“เรามองว่า ถ้าโลกนี้ ไม่มี Beauty Standard โลกอาจจะไม่น่าอยู่” การไม่มีมาตรฐานความงามเลย อาจจะทำให้เราไม่เข้าใจความงามบนโลกนี้เลยก็ได้ แต่สิ่งที่ควรจะเป็น คือ “การที่เราไม่เอาความคิดหรือมุมมองของเราไปตัดสินใคร เพียงเพราะเขาไม่ตรงตามแบบที่เราชอบ”

การเรียกร้องสิทธิ์ ในปัจจุบันเกี่ยวกับ Beauty Standard ส่วนนึงมันทำให้ดิ่งโด่งรู้สึกอึดอัด เพราะว่า มันมากจนเกินไป มันเหมือนการยัดเยียดให้เขาต้องชมว่า ทุกอย่างสวยให้แบบของมัน

“เราว่าทุกคน มีสิทธิ์ในการบอกได้ว่า อะไรสวย อะไรไม่สวยสำหรับเรา แต่แค่ต้องระวังว่าจะไปพูดทำร้ายเขา ก็แค่นั้น ซึ่งเราไตร่ตรองตรงนั้นได้อยู่แล้ว”

“เพราะถ้าเธอเดินมาถามเราว่า อันนี้สวยไหม เราจะบอกผ่านมุมมองเราว่า มันเป็นแบบไหน ไม่ใช่ว่าเราต้องชมทุกอย่างสวย”

ดิ่งโด่งแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างออกไป จากคนอื่น ๆ ทำให้เห็นว่า หรือจริง ๆ แล้ว การมี Beauty Standard นั้น อาจเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ แต่สิ่งที่ทำให้มันแย่ คือ สังคมที่คอยตัดสินเราโดยหยิบ Beauty Standard มาเป็นเครื่องมือในการทำร้ายความรู้สึกกัน

นอท : พนักงานบริษัท

“แล้วต้องหน้าตาแบบไหนล่ะ ? ถึงจะชอบเขาได้
แล้วหน้าตาแบบเรา ทำไมถึงจะชอบเขาไม่ได้”

ความรัก เป็นอีกอย่างที่จะไม่พูดถึงเรื่อง Beauty Standard ไม่ได้ “ทุกคนต่างเป็น สเปค ของใครซักคน” นอทบอก ซึ่งมันก็ใช่ และก็ไม่ใช่ด้วยเช่นกัน สำหรับสังคมไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีคนมากมายคอยตัดสินความรักของใครซักคนผ่านหน้าตา ของพวกเขา ด้วยคำว่า “เหมาะสม”

คนที่หน้าตาดี ก็ควรได้คบกับคนที่หน้าตาดี คนที่รูปร่างดี ก็ควรมีแฟนรูปร่างดีด้วยเช่นกัน สังคมถึงจะมองว่า นี่แหละ กิ่งทองใบหยก คู่สร้างคู่สม ที่พระเจ้าสร้างมา นอทเป็นอีกหนึ่งคนที่โดนตัดสินเพียงเพราะชอบใครซักคนที่ดูดีตามพิมพ์นิยมตามที่สังคมบอก แต่ตัวนอทเอง ไม่ได้อยู่ในอุดมคติตรงนั้น “หน้าแบบนี้อ่ะนะ จะไปชอบเขาคนนั้น” สังคมตัดสินเขาไปแบบนั้น

“แล้วต้องหน้าตาแบบไหนล่ะ ? ถึงจะชอบเขาได้ แล้วหน้าตาแบบเรา ทำไมถึงจะชอบเขาไม่ได้” มันเป็นคำถามที่เขาถามตัวเอง กลายเป็นว่ามันทำให้เขา ไม่กล้าที่จะจีบใครก่อนอีกต่อไป แค่คำพูดเล็กๆ แต่มันกลับส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะจริงๆแล้ว ไม่ว่าใครก็สมควรได้รับความรักที่ดี ต่อให้จะหน้าตาไม่ดีแค่ไหนก็ตาม

กอล์ฟ : Dancer / Chorographer

“สายตาคนรอบข้างตัดสินเราไปแล้ว ว่าเราไม่เหมาะกับเสื้อผ้าแบบนั้น”

การแต่งตัว เสื้อผ้า หรือแฟชั่นที่เราชอบ เป็นสิทธิในร่างกายที่เราสามารถเลือกเองได้ ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ใส่แล้ว ทำให้เรามั่นใจ และเป็นตัวเราที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราไม่กล้าเป็นตัวเองนั้น คือคนรอบข้าง ที่คอยตัดสินเราด้วยสายตาที่มองมา

“โตขึ้นก็แต่งตัวน้อยลง ส่วนนึงเพราะหน้าที่การงาน อีกส่วนนึงเพราะสายตาที่มองมา” กอล์ฟ ผู้ชื่นชอบในการแต่งตัว เขาไม่ได้สนว่า เสื้อผ้าตัวนี้ เป็นของผู้หญิงหรือ ผู้ชาย เสื้อผ้าที่เขารู้สึกว่าเหมาะกับตัวเอง และเป็น Safe zone ตัวเอง เขาก็จะเลือกแต่งแบบนั้น

แต่ความมั่นใจตรงนั้นก็ค่อย ๆ ลดลง หลังจากการแต่งตัวของเขา ดันมีผลต่อคนที่เห็นเป็นอย่างมาก สายตาที่ส่งมาถึงเขาบอกว่า “ไม่ชอบเสื้อผ้า ที่เขาใส่เลย” ทำให้การแต่งตัวมันค่อย ๆ ซอฟต์ลงไป สังคมที่เขาใช้ชีวิตอยู่มันไม่ได้เปิดกว้างพอที่จะยอมรับในสิ่งที่กอล์ฟชอบ

“มีกางเกงตัวนึงที่อยากซื้อมาใส่มาก มันเป็นทรงบอลลูนญี่ปุ่นๆ คิดว่าถ้าใส่กับรองเท้าบูทที่มี น่าจะดูดีมากๆ” แต่ที่ๆเขาอยู่มันยังไม่เคยมีใครแต่ตัวแบบนั้นมาก่อน เขาต้องถูกมองว่ามันแปลกอย่างแน่นอน เขาได้เพียงแต่หวังว่า สังคมจะเปิดกว้างมากขึ้นในซักวัน การออกมาแต่งตัวตามความชอบตัวเองอาจจะไปได้ไกลกว่านี้ก็ได้

นิ้ง : นักศึกษา

“เราเสียโอกาสไป เพราะเขาเลือกคนหน้าตาดี ทั้ง ๆ ที่ความสามารถเรามันพอๆกัน”

ผลของ Beauty Standard ทำให้คนที่ไม่ตรงอุดมคติ ต้องพยายามมากกว่าคนทั่วไป ถ้าในเมื่อคุณไม่สามารถหน้าตาดี หรือหุ่นดีขึ้นมาได้ คุณก็จะต้องเก่งกว่าคนเหล่านั้น ถึง 2 เท่า เพื่อให้ตัวเองมีจุดยืนที่เทียบเท่ากันในสังคม

“พอผิวเข้ม ก็แอบใช้ชีวิตยากเหมือนกันเนอะ”  นิ้งบอก จำได้ว่า ตอนสมัยมัธยม เพื่อนที่ผิวขาวเวลาแต่งหน้าแค่นิดหน่อย ก็ดูสดใสขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะครีม หรือรองพื้นต่างๆ มันก็ดูเอื้ออำนวยต่อคนขาวมาก เพราะมันหาซื้อง่ายกว่าคนผิวเข้ม หรือการที่รูปร่างไม่ได้สมส่วน การจะได้รับโอกาสอะไรซักอย่าง ก็ดูเป็นเรื่องยาก มีช่วงหนึ่งเธอไม่ได้รับงานเต้นเลย ทั้ง ๆ ที่เธอก็มีความสามารถที่ใช้ได้ และก็ไม่รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร จนเธอเองได้ช่างน้ำหนักก็พบว่า มันมากขึ้นกว่าเดิม เธอจึงเข้าใจทุกอย่าง

นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เธอรู้สึกเสียใจกับรูปลักษณ์ที่ตัวเองเป็น และด้อยค่าในตัวเองมากๆ ทั้งที่ความสามารถ ไม่ได้ต่างกัน แต่เธอกลับไม่ถูกเลือก ซึ่งตัวนิ้งเองก็เข้าใจ แต่มันไม่ได้แปลว่าเธอไม่รู้สึกเสียใจกับตรงนี้

เธอบอกว่า การเต้น สิ่งสำคัญที่สุด คืออินเนอร์ ถ้าเราทำตรงนั้นได้ดี เรื่องของหน้าตา ก็เป็นเรื่องรองไปเลย ถึงเธอจะเต้น Cover เกาหลี แล้วเธอเองก็ไม่ได้ตรงตามพิมพ์นิยมที่ถูกวางไว้ แต่นิ้งก็ชอบที่จะทำมัน เพราะการเต้นคือความสุขหนึ่งของเธอ

ถึงปัจจุบัน การออกมาเรียกร้องสิทธิในร่างกายตัวเอง หรือสื่อที่ออกมาสนับสนุนให้รักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็นนั้น อาจมีมากขึ้น และการที่ได้เห็นคนที่ไม่ได้เป็นคนในอุดมคติ ออกมาทำในสิ่งที่เขาชอบ อาจเป็นแรงผลักดันบางอย่างให้กับทุกคน ได้เปลี่ยนมุมมอง และความคิดไป แต่ Beauty standard ก็ยังเป็นรากที่ฝังลึกอยู่ในตัวเราเหมือนเดิม

                “ถ้าโลกนี้ ไม่มี Beauty Standard โลกอาจจะไม่น่าอยู่” – ดิ่งโด่ง

                “พอก้าวผ่านจุดนั้นมาได้ เราก็ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ” – แบมโบ้

                “ฉันเป็นแบบนี้ แต่ฉันก็มั่นใจมาก” – เหมียว

                “แม้แต่ตัวเราเอง ก็หนีจาก Attractive ตรงนั้นไม่ได้เหมือนกัน” – รีฟ

                “หวังว่า สังคมจะเปิดกว้างมากขึ้นในซักวัน” – กอล์ฟ

                “ความสวยเป็นเหมือนสิทธิพิเศษ ที่จะมีหรือไม่มีก็ได้” – กุ๊กกิ๊ก

                “แค่ชอบมัน แล้วก็ทำมันให้ดีที่สุดก็พอ” – นิ้ง

                “ไม่ว่าใครก็สมควรได้รับความรักที่ดี ต่อให้จะหน้าตาไม่ดีแค่ไหนก็ตาม” – นอท

หวังว่า Beauty Standard หรือค่านิยมต่าง ๆ จะกลายเป็นส่วนที่สร้างความมั่นใจให้ทุกคน  ให้ทุกคน ได้มีมาตรฐานความสวยงาม ที่ตัวเองกำหนดได้ และไม่ทำร้ายใครอีกต่อไป

แบรนด์ มีความสุข อยากให้คุณ “มีความสุข ทุกความสวย” ในแบบของตัวคุณเอง และรักตัวเองให้มากขึ้นในทุกวัน แม้ว่าวันนี้ เราอาจจะยังไม่ตรงกับมาตรฐานความสวยที่สังคมวางไว้ แต่หวังว่าจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในสังคมต่อจากนี้ไป…

#มีความสุขทุกความสวย #มีความสุข #Meekhwamsook

ถ้าไม่มี Beauty Standard ฉันอาจจะเป็นคนมั่นใจกว่านี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *